Orlando, Vittorio Emanuele (1860-1952)

นายวิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโด (พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๙๕)

​     ​​​วิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโด เป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๗-๑๙๑๙ เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขาเข้าสู่การเมืองใน ค.ศ. ๑๘๙๗ และก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในอาชีพนักการเมืองโดยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน ค.ศ. ๑๙๐๓

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๐๙ และ ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๖ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ อิตาลีเป็นพันธมิตร ซึ่งทำให้อิตาลีประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* และ จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ที่ตนเป็นพันธมิตรด้วยตามสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ค.ศ. ๑๘๘๒ แต่กองทัพของอิตาลีก็ ไม่แข็งแกร่งพอที่ จะต้านการบุกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ได้และพ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่คาโปเรตโต (Battle of Caporetto)* ค.ศ. ๑๙๑๗ อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ดังกล่าวก็เปิดโอกาส ให้ออร์ลันโดได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ออร์ลันโดสามารถนำความเชื่อมั่นมาสู่ประชาชนและสร้างชื่อให้ตนเองได้เมื่ออิตาลีมีชัยชนะในการป้องกันเมืองวิตตอรีโอเวเนโต (Vittorio Veneto) หลังสงครามโลกสิ้นสุด ออร์ลันโดเป็นผู้แทนคนหนึ่งของประเทศมหาอำนาจในกลุ่มที่เรียกกันว่า "ผู้ยิ่งใหญ่ ๔ คน" (Big Four) ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๙
     ออร์ลันโดเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มั่งคั่งที่เมืองพัลเมโร (Palmero) บนเกาะซิซิลีเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๖๐ เขาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนที่มีชื่อในเมืองเกิดและเข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยพัลเมโร หลังสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมก็เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยพัลเมโร และก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชากฎหมาย ออร์ลันโดมีชื่อเสียงด้านกฎหมายเกี่ยวกับศาลและมีผลงานในรูปบทความและหนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกว่า ๑๐๐ ชิ้น ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการดังกล่าวทำให้เขาถูกชักชวนให้เข้าสู่อาชีพการเมืองออร์ลันโดได้รับเลือกเข้าสู่สภาใน ค.ศ. ๑๘๙๗ และ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๓ ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรัฐบาลอิตาลีในรัชสมัยพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๔๑)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๕ ออร์ลันโดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๐๙ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออร์ลันโดสนับสนุนโครงการปฏิรูปด้านสังคมของนายกรัฐมนตรีโจวันนีโจลิตตี (Giovanni Giolitti)* ด้วยการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาและการศึกษาแบบให้เปล่าเพื่อขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือ ตลอดจนสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงดินแดนทางตอนใต้ซึ่งแห้งแล้งและประชาชนยากจนให้เจริญขึ้นด้วยระบบชลประทานและการปฏิรูปที่ดิน
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ออร์ลันโดซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสนับสนุนการดำเนินนโยบายเป็นกลางโดยอ้างว่าออสเตรียละเมิดความตกลงในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ค.ศ. ๑๘๘๒ ด้วยการโจมตีเซอร์เบียเพื่อขยายอำนาจเข้าไปในคาบสมุทรบอลข่านโดยไม่ปรึกษาอิตาลี แต่สงครามที่เริ่มยืดเยื้อทำให้อิตาลีวิตกว่านโยบายเป็นกลางจะทำให้อิตาลีเสียเปรียบเพราะหากเยอรมนีและออสเตรียมีชัยชนะ อิตาลีซึ่งทรยศต่อพันธมิตรจะเสียประโยชน์ หากกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษมีชัยชนะ อิตาลีซึ่งไม่มีส่วนร่วมในชัยชนะก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รัฐบาลอิตาลีจึงเริ่มหาทางเข้าร่วมในสงครามกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังได้เปรียบมากที่สุด ส่วนกลุ่มการเมืองชาตินิยมก็เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลให้เข้าสู่สงครามโดยเร็ว ความพ่ายแพ้ของ รัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกในยุทธการที่เมืองทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg ๒๖-๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔)* และยุทธการที่ทะเลสาบมาซุเรียน (Battle of Masurian ๕-๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔) ซึ่งรัสเซียสูญเสียทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นความจำเป็นที่จะเกลี้ยกล่อมให้อิตาลีซึ่งมีพรมแดนติดออสเตรียเข้าสู่สงครามเพื่อร่วมโจมตีเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันตก ออร์ลันโดจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนการดำเนินนโยบายเป็นกลางและหันไปสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London) ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๕
     สนธิสัญญาลอนดอนเป็นสนธิสัญญาลับระหว่างอิตาลีกับประเทศสัมพันธมิตรโดยฝ่ายสัมพันธมิตรสัญญาว่าจะให้ตรีเอสเต (Trieste) ตอนใต้ของทิโรล (Tyrol) และตอนเหนือของดัลเมเชีย (Dalmatia) เป็นการตอบแทนในกรณีที่อิตาลีเข้าสู่สงครามภายในเวลา ๑ เดือน อิตาลีจึงประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออสเตรียฮังการีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ และต่อจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ แต่การเข้าสู่สงครามของอิตาลีไม่ได้ช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรมากนักเพราะกองทัพอิตาลีไม่เข้มแข็งพอที่จะต้านทานการบุกโจมตีของเยอรมนีได้ ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ กองทัพอิตาลีก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางในยุทธการที่คาโปเรตโตซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ บริเวณ พรมแดนระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับอิตาลีความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องจัดตั้งสภากลาโหมสูงสุด (Supreme War Council) ขึ้นเพื่อรวมพลังของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าด้วยกันในการทำสงครามในอิตาลีก็มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลชุดใหม่ออร์ลันโดได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและการนำพาประเทศไปสู่ชัยชนะ เขาแต่งตั้งอาร์มันโด ดีอัซ (Armando Diaz) เป็นแม่ทัพอิตาลีแทนลุยจี กาดอร์นา (Luigi Cadorna) เพื่อปรับปรุงกองทัพอิตาลีให้แข็งแกร่งขึ้น อิตาลีจึงมีชัยชนะในการรบป้องกันเมืองวิตโตรีโอเวเนโต ส่วนประชาชนก็มีขวัญและกำลังใจมากขึ้นและทำให้ออร์ลันโดได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อเยอรมนียอมลงนามในสนธิสัญญาการสงบศึก (Armistice)* ในเดือน พฤศจิกายนซึ่งนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสในเวลาต่อมา เยอรมนีคาดหวังว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะใช้ หลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทางในการเจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพ แต่อังกฤษและฝรั่งเศสต่อต้านเพราะต้องการลงโทษเยอรมนีและประเทศพันธมิตรของเยอรมนีอย่างรุนแรงแม้ออร์ลันโดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรคนสำคัญคนหนึ่งในกลุ่ม "ผู้ยิ่งใหญ่ ๔ คน" ซึ่งประกอบ ด้วย เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clemenceau)* นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา แต่เขาก็มีบทบาทไม่มากนักการเรียกร้องดินแดนของอิตาลีตามข้อตกลงลับในสนธิสัญญาลอนดอน ค.ศ. ๑๙๑๕ ถูกประธานาธิบดีวิลสันขัดขวาง เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชาติ (national self-determination) ออร์ลันโดซึ่งพยายามรักษาผลประโยชน์ของอิตาลีให้มากที่สุดจึงต้องหันไปสนับสนุนข้อเรียกร้องของอังกฤษและฝรั่งเศสในการลงโทษเยอรมนีให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดีอิตาลีก็ไม่ได้รับดินแดนตามที่ต้องการโดยเฉพาะเมืองฟีอูเม (Fiume)* ในทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ออร์ลันโดจึงเดินทางกลับประเทศในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ก่อนที่การประชุมสันติภาพจะสิ้นสุดลง แต่ในเดือนต่อมาเขาก็กลับมาร่วมประชุมและลงนามรับรองสนธิสัญญา
     ความล้มเหลวของการเรียกร้องดินแดนที่ต้องการในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงออร์ลันโด เขาถูกโจมตีอย่างมากโดยเฉพาะจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและฟรันเชสโก นิตตี (Francesco Nitti) ได้สืบตำแหน่งต่อออร์ลันโดปลีกตัวจากวงการเมืองช่วงระยะหนึ่ง แต่ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาก็กลับคืนสู่วงการเมืองอีกครั้ง และได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๒ เขาสนับสนุนพรรคฟาสซิสต์ของเบนีโต มุสโสลีนี (Bonito Mussolini)* ในการเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มสังคมนิยมที่ยึดมั่นแนวทางของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เมื่อมุสโสลีนีเคลื่อนกำลังเข้ายึดกรุงโรมในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เดินเข้ากรุงโรม" (March on Rome) ออร์ลันโดสนับสนุนพระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ ในการแต่งตั้งมุสโสลินีเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม อีก ๒ ปีต่อมา เขาก็ถอนตัวจากการสนับสนุนมุสโสลินีเพราะไม่เห็นด้วยทั้งยังต่อต้านการใช้ความรุนแรงของพรรคฟาสซิสต์ในการลักพาตัว และสังหารจาโกโม มัตเตออตตี (Giacomo Matteotti ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๙๒๔)* ผู้นำฝ่ายสังคมนิยมเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๔
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ออร์ลันโดประท้วงการเลือกตั้งที่ทุจริตของพรรคฟาสซิสต์ด้วยการลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเดินทางออกไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนงานทางวิชาการและสอนหนังสือ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่อมุสโสลีนีถูกโค่นอำนาจและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรในการต่อต้านนาซีเยอรมันซึ่งมีอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* เป็นผู้นำ ออร์ลันโดจึงกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยเป็นผู้นำพรรคสหภาพประชาธิปไตยอนุรักษ์ (Conservative Democratic Union) หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ออร์ลันโดขณะอายุ ๘๖ ปีได้รับเลือกเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำสนธิสัญญาปารีสของประเทศฝ่ายพันธมิตรที่ให้อำนาจแก่สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวในการยึดครองอิตาลีเขาจึงลาออกใน ค.ศ. ๑๙๔๗
     เมื่ออิตาลีเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขการปกครองของราชวงศ์ซาวอย (Savoy) จึงสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ (Umberto II ๙ พฤษภาคม-๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๖)* ต้องเสด็จออกไปประทับที่โปรตุเกส ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ออร์ลันโดได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสูงและได้รับการเสนอชื่อจากรัฐสภาให้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับลุยจี เอย์นาอูดี (Luigi Einaudi) แต่พ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี ออร์ลันโดให้การสนับสนุนรัฐบาลผสมของอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๕๔)* นักการเมืองคนสำคัญของประเทศที่ทำให้อิตาลีรอดพ้นจากความหายนะทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งยังสามารถสกัดกั้นอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ให้มีบทบาทสำคัญได้
     วิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโดซึ่งใช้ชีวิตนักการเมืองกว่า ๕๐ ปีถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงโรมเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ ขณะอายุ ๙๒ ปี.



คำตั้ง
Orlando, Vittorio Emanuele
คำเทียบ
นายวิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโด
คำสำคัญ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- เอย์นาอูดี, ลุยจี
- อุมแบร์โตที่ ๒ , พระเจ้า
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ซาวอย, ราชวงศ์
- พรรคสหภาพประชาธิปไตยอนุรักษ์
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- เอเดรียติก, ทะเล
- มหาอำนาจกลาง
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- วิตตอรีโอเวเนโต, เมือง
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- ยุทธการที่คาโปเรตโต
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- ออร์ลันโด, วิตโตรีโอ เอมานูเอล
- ความตกลงไตรภาคี
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- ดัลเมเชีย
- โจลิตตี, โจวันนี
- ทิโรล
- ตรีเอสเต
- วิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓, พระเจ้า
- ยุทธการที่เมืองทันเนนแบร์ก
- พัลเมโร, เมือง
- ยุทธการที่ทะเลสาบมาซุเรียน
- กาดอร์นา, ลุยจี
- สนธิสัญญาลอนดอน
- ดีอัซ, อาร์มันโด
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- พรรคบอลเชวิค
- นิตตี, ฟรันเชสโก
- ฟีอูเม, เมือง
- มัตเตออตตี, จาโกโม
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- วิลสัน, วูดโรว์
- สนธิสัญญาการสงบศึก
- หลักการ ๑๔ ข้อ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1860-1952
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf